x close

กทม. ยันรถไฟสายสีทอง - สร้างยึดหลักคุ้มค่าเศรษฐกิจ




          วันที่ 15 ธันวาคม 2560 มีรายงานข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงให้ข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระบุโครงการนี้ทาง กทม. มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการ ดังนั้น กทม. จึงไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณแก่บริษัท กรุงเทพธนาคม แต่อย่างใด นอกจากนั้น ระบบสายสีทองยังเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักสายอื่น ๆ โดยรอบได้ ส่วนการก่อสร้างแบบบนดิน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ไม่ต้องเวนคืนที่ สร้างเสร็จเร็ว ไม่กระทบสาธารณูปโภคใต้ดิน มั่นใจว่าได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับมาแน่นอน และไม่ได้เอื้อเอกชน

          นายภัทรุตม์ ปลัด กทม. และนายธนูชัย ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ชี้แจงว่า จากกรณีล่าสุดที่สื่อบางสำนักเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาโต้แย้ง กทม. ในประเด็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองให้สอดคล้องกับโครงการไอคอนสยามนั้น (คลิกอ่านรายละเอียด http://bit.ly/2ywbaBR) ขอเรียนแถลงข้อเท็จจริงว่า ประการแรก ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครนั้น กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการทุกโครงการ รวมทั้งมีสิทธิ์จัดเก็บค่าโดยสาร การหารายได้เชิงพาณิชย์จากโครงการต่าง ๆ ของบริษัท และการหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้าง โดยกรุงเทพมหานครไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณแก่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด แต่อย่างใด
          โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นอีกหนึ่งโครงการที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าบริหารจัดการและดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้าง โดยไอคอนสยามได้ประสงค์ซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองล่วงหน้า 30 ปี มูลค่าของสัญญา 2,080 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่เคยมีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการไว้ ประกอบด้วย โครงการจ้างที่ปรึกษา โดยสำนักการจราจรและขนส่ง เมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งคิดเป็นรายได้เชิงพาณิชย์ 1,110 ล้านบาท และที่ปรึกษาทบทวนผลการศึกษา จ้างโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด คิดเป็นรายได้เชิงพาณิชย์ 723.9 ล้านบาท
 
          ดังนั้น การที่กล่าวว่าไอคอนสยามออกเงินสร้างให้ แต่ กทม. ต้องผ่อนชำระคืน 20 ปี ในรูปของค่าเช่าพื้นที่โฆษณาจึงไม่ถูกต้องแต่อย่างใด รวมทั้งกรุงเทพมหานครไม่ต้องสนับสนุนงบประมาณใด ๆ ในการก่อสร้างโครงการ  และเมื่อการดำเนินงานได้ผลกำไร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับกรุงเทพมหานครในอัตราร้อยละ 50 ตามสัญญาระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ด้วย
 

          สำหรับการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีทองมีการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนหลักสายอื่นมีรายละเอียด ดังนี้

          - จุดเชื่อมต่อที่ 1 : รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS ส่วนต่อขยายสายสีลม) ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายกับระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS ส่วนต่อขยายสายสีลม) สถานีกรุงธนบุรี (S7) ได้ที่สถานี G1 (สถานีกรุงธนบุรี) ของโครงการ โดยสามารถเดินผ่านทางเชื่อมระดับชั้นโดยสารระหว่างสถานีในระยะทางประมาณ 40 เมตร

          - จุดเชื่อมต่อที่ 2 : รถไฟฟ้าสายสีแดง ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการรวบรวมข้อมูลตามแผนแม่บทรถไฟฟ้าฯ พบว่าหากสถานีคลองสาน ของรถไฟฟ้าสายสีแดง จะอยู่บริเวณถนนลาดหญ้า ณ บริเวณด้านหลังของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จะสามารถเชื่อมต่อกับสถานี G3 (สถานีคลองสาน) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองได้โดยการเดินทางประมาณ 290 เมตร

          - จุดเชื่อมต่อที่ 3 : รถไฟฟ้าสายสีม่วง ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่สถานีสะพานพุทธ ซึ่งเป็นรูปแบบใต้ดิน ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายได้ที่สถานี G4 (สถานีประชาธิปก) ของโครงการ โดยการเดินเท้าระยะทางประมาณ 405 เมตร ไปตามแนวทางเท้าของถนนสมเด็จเจ้าพระยา
 
          ประการต่อมา สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ขอเรียนชี้แจงด้วยว่า กรุงเทพมหานคร ได้มีการศึกษาโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรอง และได้นำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินโครงการและมอบสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาความเหมาะสมเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาดำเนินการ ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 และมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง
 
          เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดรอง ทำหน้าที่เป็นระบบเสมือน (Feeder System) ให้แก่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระบบหลัก ส่งเสริมการเข้าถึงและเป็นทางเลือกการเดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ ซึ่งจะมีปริมาณผู้โดยสารน้อยต่อเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลัก ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบการก่อสร้างแบบยกระดับกับแบบใต้ดินสามารถสรุปได้ว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นรูปแบบยกระดับ มีข้อดีกว่าการก่อสร้างเป็นรูปแบบใต้ดินหลายประการ ดังนี้


          1. ก่อสร้างง่ายกว่า ไม่ซับซ้อน และใช้ระยะเวลาก่อสร้างที่น้อยกว่า

          2. ค่าก่อสร้าง ค่าการดำเนินงาน และบำรุงรักษาระบบต่ำกว่า จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงินการลงทุนที่ดีกว่า

          3. สามารถออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน เนื่องจากมีระบบส่งน้ำหลักของการประปานครหลวงอยู่ใต้ถนนเจริญนคร 

          4. ผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เนื่องจากปริมาณงานในการก่อสร้างแบบยกระดับน้อยกว่ารูปแบบใต้ดิน

          5. ผลกระทบทางสังคมน้อยกว่า เปิดพื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่าและไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดิน

          6. เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักสายอื่น ๆ ได้สะดวกกว่า
 
          ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 และมีมติเห็นชอบให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่อง พื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน


เครดิตภาพจาก : http://eia.onep.go.th/

ข้อมูลจาก :  http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/8747




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กทม. ยันรถไฟสายสีทอง - สร้างยึดหลักคุ้มค่าเศรษฐกิจ อัปเดตล่าสุด 19 ธันวาคม 2560 เวลา 13:26:08 4,163 อ่าน
TOP