x close

มารู้จักปลาฉลามหัวบาตร เพชฌฆาตหรือแค่สัตว์ใต้ท้องทะเล !?

ฉลามหัวบาตร

          ฉลามหัวบาตรที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสัตว์ใต้ท้องทะเลที่กัดนักท่องเที่ยว และสามารถแหวกว่ายบริเวณทะเลน้ำตื้นได้ แท้จริงแล้วเป็นสัตว์ร้าย เป็นเพชฌฆาตใกล้ตัวจริงหรือเปล่า

          ขึ้นชื่อว่าปลาฉลาม แน่นอนว่าเราต้องนึกไปถึงความดุร้าย ลำตัวที่ใหญ่ ฟันที่แหลมคม ปลาฉลามกัดคนครั้งใดไม่บาดเจ็บสาหัสก็ถึงแก่ชีวิต และล่าสุดกับข่าวคราวของปลาฉลามหัวบาตรในท้องทะเลไทย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสัตว์ร้ายกัดนักท่องเที่ยวจนต้องเย็บแผลเกือบ 20 เข็ม [อ่านข่าว : เย็บ 19 เข็ม เหยื่อฉลามกัด แพทย์ชี้คือฉลามหัวบาตร กัดเพราะนึกว่าเป็นอาหาร] เราเลยอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักปลาฉลามหัวบาตรกันให้มากขึ้นค่ะ
ฉลามหัวบาตร

ฉลามหัวบาตร ชื่อนี้ได้แต่ใดมา

          ปลาฉลามหัวบาตร มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bull shark ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carcharhinus leucas ฉลามหัวบาตรเป็นปลาในวงศ์ Carcharhiniformes เป็นฉลามในกลุ่มที่เรียกกันว่า Requiem shark ที่พบเห็นได้ในน่านน้ำเขตร้อนทั่วโลก ทั้งในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกา ทั้งนี้ ฉลามหัวบาตรยังมีชื่อไทยที่เรียกกันอีกชื่อคือ ฉลามวัว (Bull shark) ด้วยค่ะ

          ฉลามหัวบาตรเป็นฉลามที่มีลักษณะพิเศษ คือสามารถปรับตัวเข้าไปอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ได้ และสามารถอาศัยในทะเลน้ำตื้นได้เช่นกัน 

ฉลามหัวบาตร

ฉลามหัวบาตร ลักษณะเป็นอย่างไร


          ฉลามหัวบาตรเป็นปลาที่มีรูปร่างอ้วนป้อม ข้อหางยาว หัวมนกลม ปากกว้าง ภายในปากมีฟันแหลมคม ครีบหลังสั้น ครีบอกแหลมยาว ครีบหางตอนบนแหลมสูง ส่วนครีบหางตอนล่างเล็กสั้น ฉลามหัวบาตรที่โตเต็มวัยจะมีขนาดตัวประมาณ 3.5 เมตร มีน้ำหนักได้ถึง 316.5 กิโลกรัม เลยทีเดียว


ฉลามหัวบาตร

ฉลามหัวบาตร ในไทยพบได้ที่ไหนบ้าง

          ตามธรรมชาติของฉลามหัวบาตร จะมีถิ่นการกระจายพันธุ์ในทะเลเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง ทั้งนี้ ฉลามหัวบาตรในไทยสามารถพบได้ในบริเวณอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีรายงานว่าพบฉลามหัวบาตรที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และล่าสุดพบฉลามหัวบาตรที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ฉลามหัวบาตร

ฉลามหัวบาตร นิสัยเป็นอย่างไร

          แค่เป็นปลาฉลามก็มีคนคิดว่าฉลามหัวบาตรดุร้าย เป็นเพชฌฆาตใกล้ตัวที่นักท่องเที่ยวควรระวัง แต่แท้จริงแล้ว ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ชี้แจงสถานการณ์ของฉลามในไทยและฉลามทั่วโลกผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ไว้ว่า ฉลามทุกชนิดมีความสำคัญมากต่อระบบนิเวศ จัดเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีชีวิตและควรอนุรักษ์ให้อยู่กับท้องทะเลไทยไปยาว ๆ แต่ ณ ปัจจุบัน ฉลามมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ เกือบทุกชนิด เพราะทั้งโดนล่าเป็นอาหารชั้นหรู อีกทั้งฉลามยังเป็นปลาที่ออกลูกน้อย อย่างฉลามหัวบาตรจะออกลูกแค่ปีละ 1-12 ตัว (ตั้งท้องเป็นปี) ที่สำคัญฉลามเป็นสัตว์ที่กินปลาด้วยกัน แต่ไม่กินเนื้อมนุษย์ เพราะไม่เคยได้ยินข่าวฉลามกินคน มีแต่ข่าวว่าฉลามกัดคนก็เท่านั้น
         
          นอกจากนี้ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ฉลามหัวบาตรหรือปลาฉลามทุกชนิดมีความน่าสงสารมากกว่าน่ากลัว เพราะมักจะถูกอวนของเรือประมงล่ามาขายเป็นอาหารภัตตาคารอยู่ร่ำไป ที่สำคัญโดยพื้นฐานแล้วฉลามไม่มีนิสัยดุร้าย เว้นเสียแต่คนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ อาณาเขต หรือเป็นฝ่ายจู่โจมฉลามก่อน ซึ่งก็มักจะเจอความดุร้ายของฉลามได้ในเขตทะเลลึก เพราะฉลามที่โตเต็มวัยจะอาศัยและหากินอยู่แถบนั้น

ฉลามหัวบาตร

          ส่วนในกรณีฉลามหัวบาตรกัดนักท่องเที่ยวที่หัวหิน ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สันนิษฐานว่าอาจเป็นลูกฉลามหัวบาตรที่มักจะหลงว่ายมาแถบใกล้ชายฝั่ง และเข้าใจว่าขาของมนุษย์เป็นอาหาร จึงกัดเข้าให้ แต่เมื่อรู้รสว่าขามนุษย์ที่กัดนั้นไม่ใช่อาหารของมัน ฉลามจึงปล่อย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่ถูกฉลามหัวบาตรกัดมีแผลสาหัสแต่ไม่ถึงกับชิ้นส่วนหรืออวัยวะใด ๆ ขาดหรือหลุดติดกับปากฉลามไป เพราะหากฉลามตั้งใจจะกัดหรือกินมนุษย์จริง ๆ ฉลามหัวบาตรหรือฉลามประเภทอื่น ๆ จะกัดไม่ปล่อย และจะช่วยกันรุมกัด ไม่ได้กัดเพียงตัวเดียวอย่างแน่นอน

          อย่างไรก็ตาม แม้ฉลามจะเป็นสัตว์ที่ควรคู่กับท้องทะเล แต่ทั้งนี้หากไม่อยากให้ฉลามเข้าใจผิดว่าตัวเราเองเป็นอาหาร แนะนำให้เล่นน้ำทะเลใกล้ ๆ บริเวณชายฝั่งเท่านั้น ไม่ควรเล่นน้ำทะเลในบริเวณห่างจากชายฝั่ง 20 เมตร เพราะอาจเจอเข้ากับปลาฉลามหรือสัตว์ทะเลนักล่า และอาจได้รับอันตรายได้นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์รวมฐานข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารู้จักปลาฉลามหัวบาตร เพชฌฆาตหรือแค่สัตว์ใต้ท้องทะเล !? อัปเดตล่าสุด 20 เมษายน 2561 เวลา 17:50:28 29,467 อ่าน
TOP