x close

บราซิลจัดวิชาวิเคราะห์สื่อ เป็นวิชาบังคับ สอนเด็กรู้เท่าทันข่าวปลอมบนโลกออนไลน์


          บราซิลบรรจุวิชาวิเคราะห์สื่อ เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนทั่วประเทศ มุ่งสอนเด็กรู้เท่าทันข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ วิเคราะห์แยกแยะได้ ก่อนแชร์

ข่าวปลอมบนเน็ต
ภาพจาก MIGUEL SCHINCARIOL / AFP

          วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ มีรายงานข้อมูลอ้างอิงสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุว่า ประเทศบราซิลได้ประกาศให้วิชาการวิเคราะห์สื่อ กลายมาเป็นหลักสูตรบังคับสำหรับโรงเรียนทั่วประเทศแล้ว ในความพยายามรับมือต่อกระแสข่าวปลอมจำนวนมากที่ไหลเวียนอยู่บนโลกออนไลน์

          ปัญหาด้านการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเสรีโดยไม่ได้รับการตรวจสอบความจริง นับเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาและผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้เท่าทันสื่อ วิชาการวิเคราะห์สื่อจึงถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรบังคับของโรงเรียนทั่วประเทศ จากเดิมที่มีเพียงบางโรงเรียนเท่านั้น ที่เปิดสอนวิชาดังกล่าวเป็นวิชาเลือก

          สำหรับจุดมุ่งหมายสำคัญของวิชาการวิเคราะห์สื่อ คือการสอนให้นักเรียนสามารถบอกได้ว่า ข่าวใดเป็นข่าวปลอม และข่าวใดที่สามารถเชื่อถือได้ ซึ่งสิ่งที่ผลักดันให้ต้องมีการเรียนการสอนวิชานี้ ก็สืบเนื่องมาจากความแพร่หลายของการใช้สื่อสังคมออนไลน์

          ประเทศบราซิลมีประชากรเกือบ 208 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีถึง 120 ล้านคนที่เล่น WhatsApp มีอีกกว่า 100 ล้านคนที่เล่นเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ยังมี 50 ล้านคนที่มีบัญชีในอินสตาแกรม การส่งต่อข้อมูลบนสื่อออนไลน์นั้นเป็นเรื่องง่าย แต่มันก็ง่ายที่ข่าวปลอมจะถูกเผยแพร่ต่อในวงกว้างเช่นกัน


          ด้าน คาโย โรดริกิวส์ นักเรียนวัย 14 ปี จากโรงเรียนคาซาบลังกา แสดงความเห็นว่า สื่อมวลชนของบราซิลนั้นมีความไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับกระแสข่าวปลอม เพราะไม่ใช่ทุกคนในสังคมที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือมีเครื่องมือสำหรับตรวจสอบข้อเท็จจริงในข่าวนั้น ๆ

          โรดริกิวส์ ยังบอกอีกด้วยว่า การจะแชร์ข่าวปลอมสักครั้งเกิดขึ้นภายใน 1 คลิก ของเรา การได้เข้าร่วมโครงการ "Young Press" ของที่โรงเรียน ทำให้เธอคิดมากขึ้นก่อนจะคลิกอะไร

          ทางด้าน ลูซิลีน วารันดัส ครูผู้รับผิดชอบโครงการ "Young Press" ของโรงเรียนคาซาบลังกา เผยว่า หน้าที่ของเธอคือการทำให้แน่ใจว่านักเรียน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 8-14 ปี จะไม่เอาทุกสิ่งที่ได้เห็นหรืออ่าน มาตีมูลค่าเป็นสำคัญ แม้ว่าเด็ก ๆ จะไม่ได้มีเครื่องมือการตรวจสอบข้อมูลทุกอย่าง แต่พวกเขาก็ถูกฝึกให้สังเกตเนื้อหาในบทความ ชื่อคนเขียน กลุ่มเป้าหมายของบทความนี้ ช่องทางในการเผยแพร่ รวมถึงตั้งคำถามต่อข้อมูลที่มี

          ทางด้าน เวโรนิกา มาร์ตินส์ คันนาตา ผู้ประสานงานเรื่องการเรียนรู้เทคโนโลยีและการศึกษา ที่โรงเรียนดันเต้ อลิเกียริ มองว่า เด็ก ๆ ควรจะมีความรับผิดชอบในการวิเคราะห์สื่อที่ได้รับ ว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ ก่อนที่จะแชร์ต่อข้อมูลเหล่านั้นออกไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บราซิลจัดวิชาวิเคราะห์สื่อ เป็นวิชาบังคับ สอนเด็กรู้เท่าทันข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ อัปเดตล่าสุด 18 กรกฎาคม 2561 เวลา 10:50:47 1,220 อ่าน
TOP