x close

ทีมกู้ภัยเล่านาทีขออนุมัติแผนช่วยหมูป่าจาก รมต.ไทย เตรียมใจแล้วว่าอาจมีการสูญเสีย

          ทีมกู้ภัย เล่านาทีขออนุมัติแผนช่วยทีมหมูป่าฯ จากรัฐมนตรีของไทย ทุกคนเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีความสูญเสียระหว่างดำน้ำออกมา แต่เคราะห์ดีที่มันไม่เกิดขึ้น

          ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ จากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย นับเป็นปฏิบัติการกู้ภัยครั้งใหญ่ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า เป็นภารกิจที่ยากที่สุด มีความเสี่ยงสูง และเต็มไปด้วยความกดดัน ดังจะเห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของผู้เข้าร่วมภารกิจหลายคน ซึ่งได้ออกมาเผยต่อเรื่องราวเบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านสื่อต่างประเทศ

          แต่หนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และสะท้อนให้เห็นภาพความเสี่ยงอย่างชัดเจนนั้น ก็คือคำให้สัมภาษณ์จากทีมกู้ภัยออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ ในสื่อ ABC ประเทศออสเตรเลีย บอกเล่าถึงนาทีที่ขออนุมัติแผนจากรัฐมนตรีของไทย ซึ่งทุกคนเตรียมใจไว้ว่าน่าจะต้องมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการดำน้ำออกมา โดยเฟซบุ๊กเพจ ThaiArmedForce.com ก็ได้หยิบยกข้อมูลดังกล่าวมาแปลและเรียบเรียงไว้ ดังนี้...

          จากการสัมภาษณ์ นาวาอากาศตรี ชาร์ลีส์ ฮอด์จส์ หัวหน้าทีมกู้ภัยของสหรัฐฯ ผู้ทำหน้าที่รับเด็กจากนักดำน้ำและตรวจสอบสุขภาพเด็กในโถง 3 กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่ภารกิจนี้จะสำเร็จนั้นต่ำมากเท่าที่จะนึกออก เขาทำใจไว้ว่าอาจจะต้องมีเด็ก 3, 4 หรือ 5 คน ที่เสียชีวิตในระหว่างการกู้ภัย และเขาก็บอกกับ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ไปว่า เขามั่นใจว่ามีโอกาสที่ภารกิจจะสำเร็จเพียงแค่ 60-70%

ภารกิจช่วยทีมหมูป่า

          เขายังเผยว่าการดำน้ำพาเด็กออกมานั้นเป็นทางเลือกสุดท้ายจริง ๆ แต่ถ้าให้เด็กอยู่ในนั้นเป็นเวลา 4-5 เดือน จะต้องเตรียมอาหารแห้งให้เด็กขั้นต่ำสุดวันละ 1 มื้อ หรือเท่ากับจะต้องเตรียมอาหารถึง 1,800 มื้อเป็นอย่างน้อยเข้าไปข้างใน ซึ่งไม่มีที่พอในถ้ำ และจะต้องใช้การดำน้ำเข้า-ออกถึง 18 เที่ยว ดังนั้นการให้เด็กรอจนหมดหน้าฝนจึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากฝนที่กำลังเข้ามา ก็อาจทำให้นักดำน้ำไม่สามารถส่งอาหารได้ครบตามที่คำนวณไว้

          อีกสองคนที่มีบทบาทสำคัญในภารกิจนี้ก็คือ ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส และคู่บัดดี้ดำน้ำ เคร็ก คาลเลน จากออสเตรเลีย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบสุขภาพเด็ก ๆ และให้ยาระงับอาการตกใจก่อนที่จะนำเด็กออกมา รวมถึงประเมินสุขภาพเด็กตลอดทาง โดย เจสัน มัลลินสัน นักดำน้ำชาวอังกฤษ ถึงกับบอกว่า หากไม่มี ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส ภารกิจนี้ก็ไม่มีทางสำเร็จ

          หมอแฮร์ริสกับบัดดี้เดินทางมาถึงถ้ำหลวง วันที่ 6 กรกฎาคม หรือวันเดียวกับที่ นาวาตรี สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม เสียชีวิต ซึ่ง เคร็ก คาลเลน ยอมรับว่าภารกิจถ้ำหลวงนั้นเป็นภารกิจที่อันตราย แม้พวกเขาที่เป็นนักดำน้ำจะดูแลตัวเองได้ แต่สำหรับคนอื่น ๆ รวมถึงหน่วยซีล แม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถสูงมาก แต่นี่ก็ไม่ใช่สภาวะแวดล้อมที่พวกเขาคุ้นเคยหรือได้รับการฝึกมา

          ภายหลังการเสียชีวิตของจ่าแซม ทุกคนตัดสินใจพักภารกิจ ถอยออกมาประเมินความเสียหายกันใหม่ ในขณะเดียวกันก็ตระหนักดีว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะสุดท้ายแล้วก็ยังมี 13 คนที่ต้องช่วยออกมาอยู่ดี ถึงอย่างไรก็ต้องเดินหน้ากันต่อ ดังนั้นแม้การจากไปของจ่าแซมจะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่พวกเขาก็จะรอช้าไม่ได้ และจะไม่ปล่อยให้การเสียสละของจ่าแซมต้องสูญเปล่า

ภารกิจช่วยทีมหมูป่า

          ทั้งนี้หลังการพบตัวเด็ก ๆ ทีมกู้ภัยทุกคนเริ่มรู้ตัวลึก ๆ ว่าการนำเด็กออกมาด้วยการดำน้ำคงต้องเป็นทางเลือกเดียว หน่วยซีลของไทยได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่ออธิบายให้ท่านฟัง รวมถึงทีมกู้ภัยทั้งหมดได้อธิบายแผนการให้ท่านฟังเช่นกัน โดยที่ นาวาอากาศตรี ชาร์ลีส์ ฮอด์จส์ มั่นใจว่าแผนจะได้รับการอนุมัติ เพราะเขาเชื่อว่าแผนการนี้ได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี

          คำพูดของ นาวาอากาศตรี ชาร์ลีส์ ฮอด์จส์ ที่กล่าวกับท่านรัฐมนตรีคือ... ท่านครับ โลกทั้งโลกกำลังดูเราอยู่ เรามีเด็ก 12 คนและโค้ชติดอยู่ในถ้ำ และเรามีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์เป็นอย่างมาก แต่โชคร้ายที่ในสถานการณ์แบบนี้เราจะไม่ใช้อารมณ์ ดังนั้นเราตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุและผล และพยายามเอาอารมณ์ออกทั้งหมด ตอนนี้สถานการณ์มาถึงจุดที่เหลือทางเลือกเพียงทางเลือกเดียว และถ้าไม่ตัดสินใจที่จะดำน้ำพาเด็กออกมา สถานการณ์จะกลายเป็นผู้ตัดสินใจให้เราแทน

          จากนั้นไม่นานหน่วยซีลของไทยก็มาบอกกับ นาวาอากาศตรี ชาร์ลีส์ ฮอด์จส์ ว่า แผนการทั้งหมดได้รับการอนุมัติแล้ว และจะเดินหน้าทันที

          พันจ่าอากาศเอก เดเร็ก แอนเดอร์สัน หนึ่งในนักดำน้ำจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวว่า หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มฝึกกันในสระน้ำที่ได้รับอนุเคราะห์จากโรงเรียนละแวกนั้น และได้เด็ก ๆ มาเป็นตัวอย่างฝึก การฝึกเริ่มจากง่าย ๆ และใช้อุปกรณ์จำลอง เป็นการฝึกความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มใช้อุปกรณ์จริง และเด็กตัวอย่างจริง ซึ่งก็จะเริ่มฝึกจากการใส่อุปกรณ์ให้เด็ก การนำเด็กดำน้ำ การส่งผ่านเด็กไปยังนักดำน้ำคนอื่น และพยายามลงรายละเอียดไปเรื่อย ๆ จนมั่นใจว่าทุกคนได้ฝึกมากที่สุดเท่าที่ทักษะของตนจะมี ทุกคนได้ฝึกร่วมกัน และทุกคนจะทำให้ดีที่สุดแม้ว่าจะมีความเสี่ยงมากก็ตาม

          จุดเล็ก ๆ อย่างข้อความของเด็ก ๆ ที่ เจสัน มัลลินสัน เกิดไอเดียให้เด็ก ๆ เขียนออกมาให้ผู้ปกครอง ได้กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สร้างกำลังใจชั้นดีที่ทำให้ทีมกู้ภัยมั่นใจมากขึ้น เจสัน มัลลินสัน ซึ่งเคยกล่าวว่าภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ยากที่สุด อันตรายที่สุด และเสี่ยงที่สุดที่เขาเคยทำ ยังย้ำถึงความกล้าหาญที่น่าทึ่งของเด็ก ๆ ที่เมื่อพวกเขาอธิบายแผนการให้เด็ก ๆ ฟัง ไม่มีใครเลยที่แสดงอาการตกใจหรือร้องไห้ เด็ก ๆ ยอมปฏิบัติตามภารกิจทั้งหมด ซึ่งมันน่าทึ่งมากเมื่อเทียบกับอายุของพวกเขา

ภารกิจช่วยทีมหมูป่า

          เคร็ก คาลเลน เสริมอีกว่า ในบ่ายวันเสาร์ เขาและหมอแฮร์ริส เข้าไปตรวจสอบเด็ก ๆ และพบว่าพวกเขามีกำลังใจดีมาก โดยหน่วยซีลทั้ง 4 นาย ที่อยู่กับเด็ก ๆ ทำหน้าที่ได้ดีมากในการเสริมกำลังใจให้เด็ก ๆ ดังนั้นทุกอย่างดูพร้อมมาก แม้ว่า เจสัน มัลลินสัน จะซ่อนความกังวลไว้ข้างในว่า ถ้าฝนจะตกหนักอย่างที่พยากรณ์ไว้จริง ทุกอย่างมันจะยิ่งยุ่งยากขึ้นก็ตาม

          และนั่นเป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านผู้ว่าฯ ตระหนักว่าปฏิบัติการจะต้องเริ่มภายในวันอาทิตย์นั้น และท่านก็ประกาศวัน D-Day นักดำน้ำต่างชาติ 13 คนพร้อมหน่วยซีลของไทย 5 คนเริ่มดำน้ำเข้าไปหาเด็ก ๆ

          ทั้งนี้ทีมกู้ภัยจะถูกแบ่งถ้ำออกเป็น 9 โถง มีทีมงานรับผิดชอบเกือบ 150 คน ในส่วนที่ซับซ้อนที่สุดจะเป็นหน้าที่ของนักดำน้ำอังกฤษซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ในส่วนอื่น ๆ ก็จะแบ่งกันไปตามความเชี่ยวชาญและทักษะของแต่ละคน โดยคุณหมอแฮร์ริสจะดำน้ำมากับเด็ก ๆ ในช่วง 350 เมตรแรก และเมื่อมาถึงช่วงแห้งที่ยาว 200 เมตร เคร็ก คาลเลน จะรับหน้าที่ถอดหน้ากากของเด็ก ๆ ออก ตรวจสอบอุปกรณ์ และพาเด็ก ๆ สไลด์ข้ามเนินดินไปจนถึงช่วงที่จะต้องดำน้ำอีกครั้ง ใส่อุปกรณ์ และพากลับลงน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าจะต้องใช้นักดำน้ำ 2 คนต่อเด็ก 1 คน จะต้องใช้เวลานานมาก สุดท้ายก็เลยกลายเป็นการดูแลหนึ่งต่อหนึ่ง

          และก็จะมีช่วงแห้งที่เป็นช่วงสูงชันที่จะต้องแขวนเด็กเอาไว้บนเชือกกู้ภัยและค่อย ๆ พาเด็กไปราว ๆ 150 เมตร เพราะมันอันตรายเกินไปที่จะให้เด็กลงเดินและข้ามช่วงสูงชันนั้น โดยเด็ก ๆ จะถูกแขวนด้วยเชือกแขวนที่ปรับปรุงพิเศษเพื่อการนี้

          เจสัน มัลลินสัน เสริมว่า จะมีช่วงที่ต้องดำน้ำขึ้นตรง ๆ ซึ่งนักดำน้ำไม่มีทางรู้ว่าจะถึงช่วงนั้นเมื่อไหร่จนกว่าจะเอาหัวโขกกับผนังถ้ำ ซึ่งเมื่อมันเกิดขึ้น นักดำน้ำก็จะรู้ว่าจะต้องดำขึ้นตรง ๆ ไปตามช่องแคบ ๆ นักดำน้ำต้องลองว่าจะพาเด็กกับนักดำน้ำไปพร้อมกันได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องถอย และลองให้นักดำน้ำดำคนเดียวดู ถ้าไม่ได้ก็ต้องถอย ลองดันเด็กไปตามช่องดู ถ้าไม่ได้ก็ต้องถอยอีก มันเป็นกระบวนการที่กินเวลานานและน่ากลัวมาก เพราะถ้าเกิดดันเด็กไปชนผนังถ้ำและกระแทกหน้ากากของเด็ก ๆ หลุด เด็กก็จะต้องเสียชีวิต หรือถ้านักดำน้ำทำเชือกนำทางหลุดมือ พวกเขาก็จะตกอยู่ในอันตรายมาก

          แต่เมื่อทุกคนพาเด็ก 4 คนแรกออกมาได้ ทุกคนก็ทั้งโล่งใจและรู้สึกหมดแรงในเวลาเดียวกัน แต่ความกดดันก็ยังมีอยู่เพราะทุกคนรู้ว่าฝนกำลังมาแล้ว และนั่นไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงลดลงเลย

ภารกิจช่วยทีมหมูป่า

          พันจ่าอากาศเอก เดเร็ก แอนเดอร์สัน กล่าวว่า มันจึงเป็นการฉลองสั้น ๆ หลังจากนั้นทุกคนก็ต้องกลับไปตั้งสมาธิ ทำตัวเป็นมืออาชีพ เพราะทุกคนรู้ว่านี่เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ในภารกิจที่ใหญ่กว่า และรู้ว่าถ้าฝนตกลงมาก่อนหน้าที่คาดไว้แม้เพียงนิดเดียว ภารกิจกู้ภัยจะต้องยุติลง เพราะมันจะเสี่ยงมากเกินไปต่อทั้งเด็ก ๆ และนักดำน้ำเอง และแม้เด็กชุดที่ 2 จะออกมาสำเร็จ ซึ่งหมายถึงความสำเร็จ 8 ครั้ง จากความพยายาม 8 ครั้ง มันก็ไม่ทำให้พวกเขาเบาใจลง

          ในภารกิจวันสุดท้าย คุณหมอแฮร์ริสเลือกที่จะอยู่กับเด็ก ๆ และหน่วยซีลของไทยเป็นกลุ่มสุดท้าย โดย นาวาอากาศตรี ชาร์ลีส์ ฮอด์จส์ เล่าถึงช่วงสุดท้ายของภารกิจว่า เมื่อคุณรู้ว่าเด็ก ๆ ออกมากันหมดแล้ว หน่วยซีลของไทยออกมากันแล้ว ในตอนสี่ทุ่มที่ทุกคนยืนอยู่ตรงนั้น ทุกคนก็ปล่อยให้อารมณ์กลับเข้ามาในจิตใจอีกครั้ง มันรู้สึกได้ว่าทุกคนได้ทำอะไรสักอย่างสำเร็จ ทุกคนที่มาจากต่างที่กันมาทำงานด้วยกัน และโลกก็เฝ้ามองอยู่

          เคร็ก คาลเลน เสริมว่าเขารู้สึกโล่งมาก แต่หน่วยซีลของไทยยังมีงานต้องจัดการ ดังนั้นเขาจึงออกมากันช้ากว่า 2-3 ชั่วโมง ซึ่งนั่นก็ทำให้มีเรื่องดราม่าในตอนสุดท้ายของภารกิจจนได้

          พันจ่าอากาศเอก เดเร็ก แอนเดอร์สัน สารภาพตามตรงว่า มันอาจจะเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ ณ วินาทีนั้นปั๊มน้ำ 1 ตัว ในโถง 3 เสีย และยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งรอรับหน่วยซีลกลุ่มสุดท้ายให้ออกมา เมื่อได้รับแจ้งว่าระดับน้ำกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกคนตื่นเต้นมาก แต่สุดท้าย ทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัย

          ทั้งนี้ เคร็ก คาเลน บอกว่า นักดำน้ำได้ไปเยี่ยมเด็ก ๆ ที่โรงพยาบาลหลังจากนั้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เด็ก ๆ นั่งกินอาหารกันอย่างมีความสุข พวกเราไม่สามารถบรรยายได้ว่าพวกเรามีความสุขมากขนาดไหน เพราะตอนแรกทุกคนคาดว่าภารกิจนี้จะเป็นภารกิจกู้ศพแทนที่จะเป็นภารกิจนำผู้ป่วยออกมาทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิต เขายังต้องถามตัวเองว่าสิ่งนี้มันเป็นความจริงหรือเปล่า เพราะมันดูเหมือนจะดีเกินกว่าที่จะเป็นความจริง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทีมกู้ภัยเล่านาทีขออนุมัติแผนช่วยหมูป่าจาก รมต.ไทย เตรียมใจแล้วว่าอาจมีการสูญเสีย อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 16:08:17 19,139 อ่าน
TOP