x close

ลุงชีวิตเปลี่ยนไป หลังรับจระเข้มาเลี้ยง บำบัดเยียวยาจิตใจ จนหายซึมเศร้า

           ลุงวัยเกษียณชาวอเมริกัน รับอัลลิเกเตอร์ หรือจระเข้ตีนเป็ด เอามาเลี้ยงที่บ้าน เผยชีวิตดีขึ้น มีความสุขและคลายเศร้า จนตัดสินใจลงทะเบียนเป็นสัตว์ช่วยเหลือสังคม เยียวยาจิตใจผู้คน
เลี้ยงจระเข้

           สำหรับใครหลาย ๆ คนแล้ว สัตว์เลี้ยงเป็นมากกว่าแค่สัตว์ตัวหนึ่ง บางคนเลี้ยงสัตว์เพื่อเต็มเติมช่องว่างของหัวใจ ในวันที่ไม่มีใครอีกแล้ว บางคนเลี้ยงเป็นเพื่อน ไปไหนไปกัน ลุยไปด้วยกันทุกที่ บ้างก็เลี้ยงเอาไว้เหมือนกับลูกคนหนึ่ง และทุ่มเทดูแลสัตว์เหล่านี้ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เจ้าตัวเล็ก หรือเจ้าตัวโตนั้น ๆ ได้มีความสุข ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสัตว์เลี้ยงสักตัวหนึ่ง มันมีความหมายต่อคนคนหนึ่งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านจิตใจ

           เช่นเดียวกันกับ โจ เฮนนีย์ คุณลุงวัยเกษียณชาวอเมริกัน อายุ 65 ปี คนนี้ และการได้มีสัตว์เลี้ยงเข้ามาในชีวิต มันก็ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลง เขามีความสุขมากขึ้น และรู้สึกว่าทุก ๆ วันในชีวิตนั้นมีความหมาย

เลี้ยงจระเข้

           ด้วยเหตุนี้เอง โจจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์เลี้ยง และความสามารถของมันในการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของคนให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โจจึงนำสัตว์เลี้ยงของเขาสมัครเข้าร่วมโครงการสัตว์เพื่อการเยียวยาจิตใจ (Emotional Support Animal) และสัตว์เลี้ยงของเขาก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมันไม่ใช่สุนัข แมว ปลา นก หรือกระต่ายที่พบเห็นได้บ่อย แต่มันคือ อัลลิเกเตอร์ หรือจระเข้ตีนเป็ดนั่นเอง

           จากการรายงานของเว็บไซต์เดลี่เมล เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ระบุว่า โจอาศัยอยู่ที่สไตรน์สทาวน์ เมืองเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา โดยโจเป็นคนที่ชื่นชอบสัตว์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เขาเกิดและเติบโตในฟาร์ม คลุกคลีกับสัตว์มาตลอดชีวิต และมีรายการเกี่ยวกับการตกปลาเป็นของตัวเอง แต่ถึงกระนั้น โจก็ยังไม่มีความคิดว่าจะหาสัตว์สักตัวมาดูแล จนกระทั่งในปี 2558 เพื่อนคนหนึ่งของโจที่เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือจระเข้อยู่ที่ฟลอริดา ได้ช่วยเหลือจระเข้มา 1 ตัว และได้สอบถามโจไปว่าเขาอยากได้มันไปดูแลหรือไม่

เลี้ยงจระเข้

           ด้วยความที่โจเองก็เป็นอาสาช่วยเหลือจระเข้อยู่ที่เพนซิลเวเนียอยู่แล้ว และเขาเองก็รู้สึกชื่นชอบผูกพันกับจระเข้มาโดยตลอด เขาจึงตอบรับคำแนะนำของเพื่อน โจได้นำจระเข้ดังกล่าวกลับมาเลี้ยงที่บ้าน ตอนนั้นมันยังเป็นลูกจระเข้ตัวน้อย อายุ 14 เดือน ความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร และเขาก็ตั้งชื่อให้มันว่า วอลลี่ (Wally) โจ เปิดเผยว่า ในช่วงแรก ๆ ที่วอลลี่เข้ามาอยู่กับเขา มันแสดงท่าทางไม่แตกต่างอะไรกับลูกสุนัขหรือลูกแมว เมื่อไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ วอลลี่ดูหวาดกลัวทุกสิ่งทุกอย่างที่มันพบเห็น แต่โจให้การดูแลมันเป็นอย่างดี

           เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน วอลลี่ก็คุ้นเคยกับบ้านของโจ และมักจะเดินตามโจไปทุกที่ทั่วบ้าน เหมือนกับลูกสุนัขตัวหนึ่ง นิสัยของมันก็คล้ายกับสุนัขเช่นกัน โดยจระเข้ตัวนี้ชื่นชอบการนอนหลับพักผ่อนในตู้เก็บของในครัว มันชอบผลักถังขยะเล่น และชอบขึ้นไปนอนหมกผ้าห่มบนโซฟา

เลี้ยงจระเข้

           ปัจจุบันนี้วอลลี่เติบโตขึ้นมาก มันไม่ได้เป็นลูกจระเข้น้อย ๆ อีกต่อไปแล้ว และมีความยาวประมาณ 140 เซนติเมตร แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังเป็นเหมือนลูกหมาตัวน้อย ๆ สำหรับโจ เขามักจะอุ้มมันขึ้นมากอดแนบกับอกเหมือนกับอุ้มเด็ก ให้มันขึ้นมานอนด้วยกันบนโซฟา พาออกไปเดินเล่นนอกบ้านโดยใช้สายจูง และเคยเกาท้องเกาพุงให้กับมัน

           แม้ว่าตามธรรมชาติของวอลลี่คือสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็นที่ดุร้าย แต่มันก็ไม่เคยกัด หรือทำร้ายโจเลยแม้แต่ครั้งเดียว และก็ให้ความรักกับโจ เหมือนกับความอบอุ่นที่เขามอบให้มัน แต่ทุกครั้งที่โจให้อาหารมัน เขาจะไม่ให้ด้วยมือเปล่า แต่ใช้ที่คีบเสมอ เพราะแม้ว่าวอลลี่จะไม่ดุร้าย แต่เมื่อมันงับอาหาร มันอาจงับมาโดนมือของเขาได้

เลี้ยงจระเข้

           ด้วยความที่จระเข้แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวหลายเท่า การดูแลสัตว์ชนิดนี้จึงแตกต่างออกไป โดยโจสร้างบ่อน้ำขนาดย่อม ความจุ 300 แกลลอน เอาไว้ในห้องนั่งเล่น เพื่อให้วอลลี่ได้ลงไปพักผ่อนนอนเล่น และเพลิดเพลินกับการตีน้ำเย็น ๆ นอกจากนี้แล้ว โจยังได้ช่วยเหลือจระเข้อีกตัวหนึ่งมาเป็นเพื่อนให้กับวอลลี่ นั่นก็คือ สแครปปี้ (Scrappy) อายุ 2 ปี

           ทั้งนี้โจไม่ได้แค่ปล่อยให้จระเข้ของเขาอยู่บ้านเฉย ๆ หรือมีไว้แค่เป็นเพื่อนเล่นอย่างเดียว โดยเขามักจะพาวอลลี่ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ด้วยเหตุผลทางการศึกษา เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และสัมผัสกับจระเข้อย่างใกล้ชิด ในช่วงนั้นเอง โจสังเกตเห็นได้ว่าวอลลี่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่เด็กที่มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือการพัฒนาการ อย่างเช่น อาการทูเร็ตต์ ซึมเศร้า หรือออทิสติก เพราะเมื่อเด็กเหล่านี้อยู่กับวอลลี่ พวกเขาจะรู้สึกสงบและสบายใจอย่างเห็นได้ชัด

เลี้ยงจระเข้

           หลังจากสังเกตมาพักใหญ่ โจจึงติดต่อเข้าไปสอบถามข้อมูลที่หน่วยงานสัตว์ช่วยเหลือคนพิการ หรือ Service Animal ว่าเขาสามารถลงทะเบียนวอลลี่ให้เป็นเซอร์วิสแอนิมอลได้หรือไม่ และก็ได้รับข้อมูลกลับมาว่าสัตว์ที่สามารถทำงานประเภทนี้ได้มีแค่สุนัข และม้าแคระเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว สัตว์เหล่านี้ยังต้องผ่านการฝึกฝนแบบพิเศษอีกด้วย แต่โจก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจในความคิดให้วอลลี่ได้ช่วยเหลือสังคม และตัดสินใจสมัครให้วอลลี่เป็นสัตว์ที่ช่วยเหลือทางด้านอารมณ์แทน และคุณสมบัติของวอลลี่ก็ผ่าน ทำให้มันกลายเป็นสัตว์ช่วยเหลือทางอารมณ์อย่างเป็นทางการ

เลี้ยงจระเข้

           ด้วยความที่สัตว์ที่ทำหน้าที่นี้ไม่จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนแบบพิเศษ หรือมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เคร่งครัด โจจึงสามารถพาวอลลี่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเขา ว่าเขาควรให้มันช่วยเหลือสังคมอย่างไร โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมัน รวมทั้งผู้คนที่ได้พบมันด้วย โดยเขามักจะพามันไปตามศูนย์ชุมชน หรือบ้านพักคนชรา ให้ผู้คนได้เล่นกับมัน ได้กอดและสัมผัสเหมือนกับสุนัข ซึ่งมันก็ไม่เคยงอแงที่มีคนมาเล่นกับมันอีกด้วย และมันก็กลายเป็นขวัญใจชาวบ้านไปแล้ว

           โจ เปิดเผยว่า จระเข้ตีนเป็ดอย่างวอลลี่นั้นแตกต่างกับจระเข้เคแมน และจระเข้น้ำจืดทั่วไป เนื่องจากมันไม่ดุร้ายเท่า และมักจะไม่โจมตีมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่ไปแหย่หรือทำร้ายมัน วอลลี่เองก็ไม่ดุร้ายและชื่นชอบผู้คน แต่ทั้งนี้แม้ว่าจระเข้ภายในบ้านของเขาจะนิสัยดี ไม่ดุร้าย แต่โจก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่าสัตว์เลื้อยคลานอย่างจระเข้ ไม่ว่าจะเป็นจระเข้สายพันธุ์ไหนก็ตาม ไม่ใช่สัตว์ที่ควรเอามาเลี้ยงในบ้านเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะอันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่ไม่เชี่ยวชาญ ยิ่งมีความเสี่ยงสูง



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลุงชีวิตเปลี่ยนไป หลังรับจระเข้มาเลี้ยง บำบัดเยียวยาจิตใจ จนหายซึมเศร้า อัปเดตล่าสุด 23 มกราคม 2562 เวลา 18:13:12 26,161 อ่าน
TOP