x close

ราชกิจจาฯ ประกาศให้ทรัพย์สิน ระพิพรรณ เมียกี้ร์ อริสมันต์ ตกเป็นของแผ่นดิน

          ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคำพิพากษา ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่อง ขอให้ทรัพย์สิน ระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง เมียกี้ร์ อริสมันต์ ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ รวมกว่า 42 ล้านบาท

          เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน คดีหมายเลขดำที่ อม. 77/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 238/2562 ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง นางสาวจันทาภา พิษณุไวศยวาท ที่ 1 บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 2 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ที่ 3 ผู้คัดค้าน นางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ผู้ถูกกล่าวหา

          โดยเนื้อหาระบุใจความว่า ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า  ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 จึงเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทรัพย์สินรวม 11,722692.13 บาท  หนี้สินรวม  9,715,357.51 บาท ทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 2,007,334.62 บาท 

          ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่  9 ธันวาคม 2556 จึงยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.  มีทรัพย์สินรวม 68,437,156.76 บาท หนี้สินรวม 36,297,822.24 บาท ทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 32,139,334.52 บาท และยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนและคู่สมรส กรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้ว 1 ปี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 มีทรัพย์สินรวม 49,954,196.98 บาท หนี้สินรวม 19,656,004.74 บาท ทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 30,297,192.24 บาท 

          ต่อมาคณะกรรมการ  ป.ป.ช. มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหา จากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน  ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ ในชื่อของผู้ถูกกล่าวหา จํานวน 86,765,743.83 บาท ชื่อคู่สมรส จํานวน 2,100,000 บาท และเงินที่นํามาชําระเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย สาขาศรีย่าน จํานวน 1,900,000 บาท รวมมูลค่า 90,765,743.83 บาท ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยอ้างสัญญา 5 ฉบับ

          คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน พิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 3 ฉบับไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่มีการชําระเงินกันจริง สัญญาจ้างทําของไม่มีการจ้างจริง และผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ รวมมูลค่า 42,816,226.64  บาท จึงส่งรายงานผลตรวจสอบไปยังผู้ร้อง ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่เพิ่มขึ้นมากผิดปกติจำนวนดังกล่าว รวมทั้งดอกผลของทรัพย์สินนั้น ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 38, 80, 83

          ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำคัดค้าน กับแก้ไขคําคัดค้าน และผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคําคัดค้านทํานองเดียวกันว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ขัดแย้งต่อพยานหลักฐาน โดยได้สรุปขัดต่อความเป็นจริง ไม่ใช้วิธีการที่ถูกต้องโดยมีเพียงการดูจากกระแสเงินเท่านั้น ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเงินเพิ่มขึ้นจริง ตามรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ขอให้ยกคำร้อง

          ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคําคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ  ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินจังหวัดราชบุรี โดยจดทะเบียนถูกต้อง ขอให้คืนที่ดินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 1

          ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคําคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 730LD เลขทะเบี  ยน ถ-8988 (ป้ายแดง)  ตามคําร้อง ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาเช่าซื้อไปในราคา  3,762,953.40 บาท ตกลงผ่อนชําระ 60 งวด ผู้ถูกกล่าวหา ชำระค่าเช่าซื้อรวม 38 งวด แล้วผิดนัดชำระตั้งแต่งวดวันที่ 2 มีนาคม 2560 ผู้คัดค้านที่ 2 มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งศาลได้พิพากษาแล้ว ว่าเป็นการเช่าซื้อตามธรรมดาของการค้าผู้คัดค้านที่ 2 ทั้งนี้ ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นจะเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย จึงขอให้คืนรถยนต์แก่ผู้คัดค้านที่ 2

          อย่างไรก็ตาม จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนและรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติรวม มูลค่า 42,816,226.64  บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 4 มาตรา 37/2 มาตรา 38 ประกอบมาตรา 83

          โดยพิพากษาว่า ให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ จำนวนดังกล่าว พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 4, 38 ประกอบมาตรา 83

          หากไม่อาจบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินตามคําพิพากษาข้างต้นได้ทั้งหมด หรือได้แต่บางส่วนให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่น ของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในอายุความ 10 ปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 83  พร้อมทั้งให้คืนรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ตามคําร้องแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และยกคําคัดค้าน ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3

ราชกิจจาฯ

ราชกิจจาฯ


อ่านรายละเอียดทั้งหมดจำนวน 29 หน้า คลิก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ราชกิจจาฯ ประกาศให้ทรัพย์สิน ระพิพรรณ เมียกี้ร์ อริสมันต์ ตกเป็นของแผ่นดิน อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 17:33:25 15,230 อ่าน
TOP