x close

ดราม่า เจ้าของบ้านสร้างรั้วทับทางเท้า ทำคนแห่วิจารณ์สนั่น ก่อนเฉลยอีกมุมทำคดีพลิก

          คนชี้พิกัด เจ้าของบ้านสร้างรั้วทับทางเท้า ที่สมุทรสาคร ทำชาวเน็ตวิจารณ์สนั่น แต่งานนี้คดีพลิกอีกด้าน คนผิดไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ล่าสุดจ่อแก้ปัญหาแล้ว

          จากกรณีวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ในกลุ่ม ข่าวสารสมุทรสาคร เป็นภาพบ้านหลังหนึ่งที่สร้างกำแพงรั้วออกมาทับทางเท้า โดยระบุพิกัดว่าอยู่ตรงริมถนนเอกชัยก่อนถึงปั๊ม ปตท. เมืองใหม่ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบด้วย


          หลังภาพนี้ถูกเผยแพร่ไปก็สร้างความตกใจให้กับผู้คนในโลกออนไลน์ มองว่าไม่ควรมีการก่อสร้างแบบนี้ นอกจากนี้ยังสับสนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้เกิดกรณีแบบนี้ได้อย่างไร แต่ดูเหมือนว่า เมื่อย้อนภาพจากกูเกิล แมป กลับพบว่าบริเวณรั้วบ้านหลังดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นมาก่อนทางเท้า จึงดูเหมือนว่าเคสนี้อาจไม่ใช่ความผิดของเจ้าของที่ดิน

          นอกจากนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาชี้แจงว่า "ที่ดินมีโฉนดถูกต้อง ไม่ได้สร้างทับทางเท้า เป็นแนวรั้วเก่า ตอนที่ทำถนน เจ้านายก็ถามกรมทางแล้วว่าจะเวนคืนหรือเปล่า ก็มีจดหมายตอบมาว่าไม่เวนคืน แล้วใครจะยกที่ให้ วันนี้กรมทางมาติดต่อพูดคุยกับเจ้านายแล้วและจะขอซื้อ พร้อมกับจ่ายค่าเวนคืนและค่ารั้วให้ เจ้านายเราก็ถามว่า แล้วทำไมไม่ซื้อตั้งแต่ตอนนั้น และเจ้านายก็ยินดีให้เวนคืนให้ ก่อนจะโพสต์หรือด่าใครก็ควรหาข้อมูลดี ๆ ก่อน

          แกซื้อที่ทำถนนให้คนในสวนส้มใช้แกยังทำได้เลย แถวสวนมะพร้าวป้าไพ ไปถามดูได้เลย แกเป็นคนใจดีนะ"


ไล่เรียง สร้างรั้วทับทางเท้า พิสูจน์หลักฐานตรงนั้นยังเป็นพื้นที่เจ้าของที่ดินเดิม อยากได้ต้องมาเจรจา


             ต่อมา เพจเฟซบุ๊ก มิติมหาชัย เปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงสมุทรสาคร ระบุว่า กรณีสร้างรั้วในลักษณะขวางทางเดินเท้า ถนนเอกชัย ช่วง ปตท.เมืองใหม่


            1. การก่อสร้างถนนเอกชัยในอดีตนั้น เป็นลักษณะของเจ้าของที่ดินทำการอุทิศพื้นที่ให้สร้างถนน (ไม่ใช่ พ.ร.บ. เวนคืน)

            2. ตอนก่อสร้างถนนครั้งแรก ดำเนินโดยจังหวัดสมุทรสาคร และก่อสร้างก่อน ปี 2515

            3. ปี 2515 จังหวัดสมุทรสาคร ทำเรื่องส่งมอบถนนเอกชัยให้กรมทางหลวง (มีการกันเขตทางไว้ฝั่งละ 20 เมตร)

            4. ช่วงที่ขยายถนนเอกชัย กรมทางหลวงได้ดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์การอุทิศ หากพื้นที่ส่วนไหนไม่มีการอุทิศ ก็จะเจรจาขอซื้อที่ดิน

            5. กรณีที่ดินสร้างรั้วซึ่งเป็นประเด็นนั้น ไม่มีหลักฐานของการอุทิศ สิทธิ์จึงยังเป็นของเจ้าของที่ดิน

            6. ในอดีตเคยมีการติดต่อขอซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อเจ้าของได้

            7. ที่ดินที่มีการสร้างรั้วนั้น ไม่กินพื้นที่ถนนเอกชัย

            8. กรณีลักษณะนี้ ยังพบเห็นในหลายพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสาคร โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเจรจาปรองดอง เป็นราย ๆ ไป เนื่องจากไม่ใช่ พ.ร.บ. เวนคืน


           ล่าสุด (28 กุมภาพันธ์) ความคืบหน้า กรณีสร้างรั้วคร่อมทางเท้าถนนเอกชัย มีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าของที่ดิน และแขวงทางหลวงสมุทรสาคร เพื่อหาทางออกร่วมกัน แขวงทางหลวงระบุ เจ้าของที่ดินพร้อมแบ่งหักที่ดินแบบมีค่าตอบแทน เพื่อนำมาทำทางเท้า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอเรื่องไปยังกรมทางหลวง

            ก่อนหน้านี้ปี 2550 เคยมีโครงการปรองดอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการเจรจาขอซื้อที่ดิน แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าโครงการนี้ถูกยกเลิกไปหรือยังไง หลังจากนี้คงต้องรอคำตอบและงบประมาณจากกรมทางหลวง เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบราชการ

            
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก มิติมหาชัย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดราม่า เจ้าของบ้านสร้างรั้วทับทางเท้า ทำคนแห่วิจารณ์สนั่น ก่อนเฉลยอีกมุมทำคดีพลิก อัปเดตล่าสุด 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10:42:23 83,108 อ่าน
TOP