x close

21 พฤศจิกายน วันนักถ่ายภาพไทย

วันนักถ่ายภาพไทย

          วันนักถ่ายภาพไทย ตรงกับวันที่ 21 พฤศจิกายนของทุกปี เหตุใดจึงกำหนดให้เป็นวันนักถ่ายภาพไทย มาหาคำตอบจากเรื่องราวข้างล่างนี้

          การถ่ายภาพ...เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเก็บความทรงจำ ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา และแน่นอนว่าการถ่ายภาพนั้นยังถือเป็นงานอดิเรกของใครหลาย ๆ คน และยังเป็นงานหลักของคนอีกหลายคนด้วย ซึ่งถือเป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะแขนงนี้อีกด้วย สำหรับการถ่ายภาพนั้นก็มีมาอย่างยาวนานจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เทคนิคการถ่ายภาพ, อุปกรณ์ ถูกพัฒนา ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนมาถึงปัจจุบันที่การถ่ายภาพนั้นเข้าถึงง่าย ไม่ว่าใคร อายุเท่าไร ก็สามารถเป็นนักถ่ายภาพได้ และมีมุมมองที่แตกต่างกันไป

          และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 พฤศจิกายน นี้ ก็เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพโดยตรง เนื่องจากวันนี้เป็น "วันนักถ่ายภาพไทย" ซึ่งบรรดานักถ่ายภาพทั้งหลายคงอยากรู้แล้วใช่ไหมคะว่าในวันนี้มีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งกระปุกดอทคอมจะมาชี้แจงแถลงไขให้ฟังกันค่ะ

วันนักถ่ายภาพไทย

          สำหรับการถ่ายภาพครั้งแรกประเทศไทยมีขึ้นในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยช่างที่ถ่ายรูปคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นคือ ท่านสังฆราชฝรั่งเศสชื่อ บาทหลวงปาเลอกัว อยู่วัดคอนเซ็ปชัญ (สามเสน) และคนไทยที่เป็นช่างถ่ายภาพคนแรก คือ นายโหมด อมาตยกุล หรือ พระยากระสาปน์กิจโกศล ในปัจจุบันเชื่อกันว่าบาทหลวงปาเลอกัวเป็นช่างคนแรก และเป็นอาจารย์ของพระยากระสาปน์กิจโกศล (นายโหมด อมาตยกุล) นายโหมดมีชื่อเสียงในการถ่ายภาพเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เช่น ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "การถ่ายรูปเมืองไทย" ของรัชกาลที่ 5 จากหนังสือ "กุมารวิทยา"

วันนักถ่ายภาพไทย

          ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มีหลักฐานพระบรมรูปหลงเหลือไว้จำนวนมาก เนื่องจากในสมัยนี้ รัชกาลที่ 4 ทรงนำรูปถ่ายที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการทูต โดยทรงส่งพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้ประมุขของประเทศต่าง ๆ ที่ทรงผูกสัมพันธไมตรีด้วยหลายวาระ อาทิ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ฉายคู่กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีไปยังประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ซ ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น อีกทั้งในสมัยนี้เริ่มมีการตั้งร้านถ่ายรูปถาวรขึ้น 2 ร้าน ร้านหนึ่งเป็นของชาวต่างชาติชื่อ เอ.แซกเลอร์ ส่วนอีกร้านเป็นของนายจิตรจิตราคนี หรือหลวงอัคนีนฤมิตร ซึ่งหลวงอัคนีนฤมิตรนับได้ว่าเป็นช่างถ่ายรูปรุ่นแรก ๆ ของเมืองไทยที่มีผลงานถ่ายภาพเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ขุนนางเจ้านาย ตลอดกระทั่งภาพเหตุการณ์สำคัญ ๆ บางเหตุการณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5

วันนักถ่ายภาพไทย

          และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) การถ่ายภาพในเมืองไทยได้พัฒนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในสมัยนี้รัชกาลที่ 5 ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในวิทยาการสมัยใหม่ทุกด้าน รวมถึงวิชาการถ่ายรูปก็เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการเปิดร้านถ่ายภาพกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จากแต่ก่อนคนที่จะถ่ายภาพจะต้องเป็นคนชั้นสูงเท่านั้น เช่น เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง พ่อค้า เป็นต้น

          นอกจากนี้ จากความสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพเป็นอันมาก รัชกาลที่ 5 จึงทรงจัดให้มีการอวดรูปภาพหรือโชว์รูปและการประชันรูปขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ การเอารูปถ่ายออกมาแสดงให้สาธารณชนได้ชมกัน โดยมีการเชื้อเชิญให้ส่งรูปถ่ายมาแสดงเก็บเงินช่วยในการสร้างพระอาราม มีทั้งรูปอัดลงกระดาษและรูปกระจกใสถ้ำมอง และมีการออกร้านขายของสารพัด ที่สำคัญคือ มีร้านถ่ายรูปหลวงด้วย ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในงานไหว้พระพุทธชินราชประจำปี พ.ศ. 2448

          และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเห็นชอบให้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในฐานะพระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย และกำหนดให้วันที่ 21 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันนักถ่ายภาพไทย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยไม่เป็นวันหยุดราชการ


วันนักถ่ายภาพไทย


          อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้เปลี่ยนวันนักถ่ายภาพไทยเป็นวันที่ 21 พฤศจิกายน หลังจากที่นายกสมาคมสื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (นายพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ) ได้ขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแก้ไข เนื่องจากมีหลักฐานเอกสารยืนยันว่าวันประกาศการอวดรูปถ่ายที่ถูกต้อง จริง ๆ แล้วคือ วันที่ 21 พฤศจิกายน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) มิใช่วันที่ 23 พฤศจิกายน ตามที่สมาคมสมาพันธ์การถ่ายภาพไทยเสนอไว้


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
buu.ac.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
21 พฤศจิกายน วันนักถ่ายภาพไทย อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2560 เวลา 18:17:48 21,987 อ่าน
TOP